ไปแลกเปลี่ยนที่ไหนดี
หลายคนอยากไปแลกเปลี่ยนแต่ยังไม่รู้ว่าจะไปประเทศไหนดี หรือมีหลายประเทศมากจนไม่รู้จะเลือกอะไร คราวนี้เราเลยมาช่วยแนะนำวิธีการว่า จะเลือกไปแลกเปลี่ยนที่ไหน ควรดูจากอะไรบ้าง
1. สำรวจค่าครองชีพ
ค่าครองชีพในแต่ละประเทศแตกต่างกัน เงิน 50 บาทที่บ้านเราอาจซื้อข้าวได้ 1 มื้อ แต่บางประเทศอาจซื้อได้แค่น้ำเปล่า 1 ขวดขณะที่บางประเทศอาจซื้อข้าวได้ 1 มื้อพร้อมขนมเพราะฉะนั้นควรศึกษาค่าครองชีพของแต่ละประเทศ เพื่อที่จะได้ตัดสินใจได้ตามงบประมาณที่เรามี
2. ส่องระบบการศึกษา
ระบบการศึกษาแต่ละประเทศก็มีมาตรฐานต่างกันออกไป นักเรียนควรดูระบบการศึกษาของแต่ละที่ว่า ที่ไหนที่เหมาะสมกับเรา ที่เราจะสามารถนำไปต่อยอดกับการเรียนหรืออาชีพในอนาคตได้
3. เลือกภาษาอังกฤษ หรือภาษาที่สาม
เรามีประเทศให้เลือกกว่า 40 ประเทศมีทั้งประเทศที่เรียนเป็นภาษาอังกฤษ และภาษาที่สาม ทีนี้ก็ต้องถามตัวเองว่าอยากพัฒนาภาษาอังกฤษให้เป็นเลิศก็ต้องเลือกประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก แต่ก็อยากให้ลองมองถึงข้อดีของการไปประเทศที่พูดภาษาที่ 3 หากได้ก็จะช่วยสร้างโปรไฟล์ให้กับตัวเองให้โดดเด่นแถมยังช่วยพัฒนาสมองในด้านภาษาอีก ซึ่งช่วงวัยนักเรียนนี่แหละเป็นวัยที่เหมาะที่สุดสำหรับการเรียนภาษาใหม่ด้วย และอาจเป็นการนำไปสู่การเรียนภาษาที่ 4 และ 5 ก็เป็นได้ ยิ่งช่วงแรกที่ได้ไปก็ต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นตัวกลางในการสื่อสารอยู่แล้ว ก็จะทำให้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาที่สามควบไปด้วย
4. ศึกษาข้อดีข้อเสีย
ลองเลือกประเทศที่สนใจ เสร็จแล้วก็เขียนข้อดีข้อเสียของแต่ละประเทศแล้วเอามาเปรียบเทียบกัน ก็จะทำให้เราเห็นภาพของประเทศนั้นๆ มากขึ้น ก่อนจะทำการตัดสินใจเลือก แต่ขอให้เป็นข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงมีแหล่งอ้างอิงได้แน่นอนนะครับ ประเภทที่ดูจากภาพยนตร์หรือฟังเค้าเล่ามาที่ไม่มีที่มาชัดเจนอาจเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องทั้งหมดก็เป็นได้นะครับ
5. เข้าใจวัฒนธรรม
ทำความเข้าใจวัฒนธรรมของประเทศที่เราสนใจก่อน แล้วจะทำให้เรารู้ว่า ประเทศนี้เหมาะกับบุคลิกหรือนิสัยของเราหรือเปล่า ผู้คนบางประเทศอาจจะต่างคนต่างอยู่ ถ้าเราเป็นคนชอบให้คนเข้าหาเราก่อน ประเทศแบบนี้อาจจะไม่ถูกจริตเราเท่าไหร่ เว้นแต่ถ้าเราต้องการปรับเปลี่ยนตัวเองให้กล้าเข้าหาคนมากขึ้น การเลือกประเทศที่วัฒนธรรมต่างจากเราไปเลยก็เป็นหนทางหนึ่งที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นคนที่มีคุณภาพยิ่งขึ้นไปอีก
6. ตั้งเป้าหมาย
บางทีการตั้งเป้าหมาย ก็จะทำให้เราเลือกได้ง่ายขึ้น วิธีการตั้งเป้าอาจจะเริ่มจากเรื่องเล็กๆน้อยๆ เช่น บางคนแค่อยากไปลองกินพิซซ่าต้นตำรับ แน่นอนก็ต้องเลือกประเทศอิตาลี หรืออยากไปเจอสัมผัสหิมะสักครั้งในชีวิต เราก็ต้องเลือกไปประเทศที่มีหิมะตก เป็นต้น
7. วางแผนอนาคต
เราอาจเลือกประเทศโดยดูจากแผนในอนาคตของเราก็ได้ บางคนอาจจะตั้งจากอาชีพที่ตัวเองอยากเป็น ก็ต้องมาดูว่า ประเทศไหนที่มีชื่อเสียงในเรื่องวีชาชีพนั้นๆ อย่างคนที่ชอบด้านแฟชั่น ฝรั่งเศสคือตัวเลือกอันดับต้นๆ ใครอยากเรียนเกี่ยวกับวิศวกรรม ก็อาจจะสนใจในประเทศเยอรมนี
8. ปรึกษาผู้มีประสบการณ์
การได้ลองคุยหรือปรึกษากับผู้ที่เคยไปมาแล้ว ก็จะทำให้เราเห็นภาพมากขึ้น ได้รู้รายละเอียดที่บางครั้งไม่สามารถหาได้จากข้อมูลทั่วไป ก็จะช่วยให้เราตัดสินใจได้ง่ายมากขึ้น หรืออาจจะปรึกษากับคุณพ่อคุณแม่ คุณครู หรือผู้ใหญ่ที่เรารู้จักก็จะได้เห็นมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น
9. ถามใจตัวเอง
ท้ายสุดก็ต้องถามตัวเองว่า เราต้องการไปแลกเปลี่ยนเพื่ออะไร การจะประสบความสำเร็จในการไปแลกเปลี่ยนนั้นก็ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของตัวนักเรียนเองด้วย การไปแลกเปลี่ยนช่วงมัธยมเป็นโอกาสครั้งเดียวในชีวิต บางคนอาจไปต่างประเทศเป็นเรื่องปกติแต่การไปเรียนแลกเปลี่ยนนั้นย่อมให้ประสบการณ์ที่แตกต่างออกไปอย่างแน่นอน แต่ถ้าเราคาดหวังว่าจะได้เที่ยวได้กินอยู่อย่างสบายเหมือนตอนไปเที่ยวต่างประเทศกับผู้ปกครอง การไปแลกเปลี่ยนนี้อาจจะไม่ประสบความสำเร็จหรือไม่ตอบโจทย์ของนักเรียนก็เป็นได้ แต่หากเราอยากไปเปิดโลก ไปค้นหาตัวเอง ได้เรียนรู้ที่จะปรับตัวกับสิ่งใหม่ๆ ได้ลองใช้ชีวิตแบบที่ไม่มีคุณพ่อคุณแม่คอยช่วยทุกเรื่อง เพื่อให้เราได้กลายเป็นคนที่ดีกว่าเดิม การไปแลกเปลี่ยนก็อาจจะตอบโจทย์ชีวิตของนักเรียนก็เป็นได้
และเมื่อเรารู้ใจของตัวเองแล้ว ก็อาจจะตอบคำถามได้ว่า ไปแลกเปลี่ยนที่ไหนดี