วันที่ 26 พฤษภาคม 2565 มูลนิธิการศึกษาและวัฒนธรรมสัมพันธ์ไทย-นานาชาติ (เอเอฟเอส ประเทศไทย) นำโดย นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชรพจน์ ทรัพย์สงวนบุญ ผู้อำนวยการใหญ่ จับมือร่วม 3 สถาบันการศึกษา โดยนายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ Head Master นายวิวัฒน์ คติธรรมนิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนดิเอสเซนส์ นายแพทย์ธรรมศักดิ์ เอื้ออภิธร ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนนิวตัน และนายอภิธา วัลลภศิริ ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนโอเพ่นสคูล ลงนามในบันทึกข้อตกลงทางวิชาการ (MOU) เพื่อพัฒนาโครงการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาและวัฒนธรรมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก โดยมุ่งมั่นในการสร้างพลเมืองโลกที่มีคุณภาพ ณ ศูนย์การเรียนดิเอสเซนส์

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการมูลนิธิเอเอฟเอส ประเทศไทยกล่าวว่า “ในปัจจุบันนี้ความรู้และทักษะในการเป็นพลเมืองโลกนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้กลายเป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพ ซึ่งหากเยาวชนได้รับโอกาสในการเรียนรู้ภายใต้ระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ ก็จะเป็นตัวช่วยสำคัญที่ผลักดันให้เยาวชนมีมุมมองที่กว้างไกลและทันสมัย ซึ่งเอเอฟเอส ประเทศไทยในฐานะของหน่วยงานที่มอบโอกาสเหล่านั้นให้กับเยาวชนมากกว่า 60 ปี เรายังคงยืนหยัดอยู่บนภารกิจในการสร้างสรรค์พลเมืองโลกที่มีคุณภาพ ด้วยความรู้ และความเข้าใจในความแตกต่างที่หลากหลายของสังคมโลกเสมอมา”

นอกจากนี้ผศ.ดร.วัชรพจน์ ทรัพย์สงวนบุญ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ในการจับมือกันครั้งนี้ของเอเอฟเอส ประเทศไทย และศูนย์การเรียนดิเอสเซนส์ ศูนย์การเรียนนิวตัน ศูนย์การเรียนโอเพ่นสคูล จะเป็นส่วนช่วยสำคัญในการพัฒนาเยาวชนไทย ให้เป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพ ด้วยการพัฒนาความรู้และทักษะของผู้เรียน โดยการดึงเอาจุดแข็งของทั้ง 2 หน่วยงาน เข้ามาใช้ในการดำเนินการ อย่างการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม (Intercultural Learning) การแลกเปลี่ยนนักเรียนระหว่างนานาประเทศ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในความหลากหลายของสังคมโลก ความเข้าใจในอุปนิสัย (Characters) ผู้เรียน เพื่อการจัดหลักสูตรในการเรียนรู้ที่เหมาะสม ซึ่งจะส่งผลให้ผู้เรียนสามารถเติบโตขึ้นไปเป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพ โดยไม่สูญเสียคุณค่าที่ดีของความเป็นมนุษย์”

ในการร่วมมือกันในครั้งนี้ระหว่างมูลนิธิเอเอฟเอส ประเทศไทย และ 3 สถาบันการศึกษา ถือว่าเป็นการพัฒนาระบบการศึกษาไทยในรูปแบบใหม่ ที่มุ่งเน้นพัฒนาทักษะของเยาวชนทั้ง Soft Skill และ Hard Skill ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญอย่างยิ่งในการดำรงชีวิตในสังคมปัจจุบัน และสังคมโลก

นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ได้กล่าวเสริมว่า “ในปัจจุบันนี้ Soft Skill เป็นทักษะที่มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียนและการทำงาน รวมไปถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมโลก เราในฐานะของสถาบันการศึกษา ซึ่งมีบทบาทในการเสริมสร้าง Hard Skill อยู่แล้ว และหากสามารถเพิ่มเติมทักษะที่เป็น Soft Skill ให้กับนักเรียนและบุคลากรได้ ก็จะมีส่วนช่วยให้ทรัพยากรของเราสามารถเติบโตไปเป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพได้ เช่นเดียวกันกับพันธกิจหลักของเอเอฟเอส ประเทศไทย”