ในระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา กับเหตุการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เกิดข้อจำกัดการใช้ชีวิตที่เคยเป็น “ปกติ” โดยที่เราแทบจะไม่มีข้อต่อรองได้เลย คำถามต่อจากนี้คือ แล้ว “ความปกติใหม่” หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร และเราต้องปรับตัวเราอย่างไรเพื่อให้ดำรงชีวิตต่อได้ด้วยความเข้าใจ ไม่เพียงเฉพาะกับสิ่งแวดล้อมหรือผู้คนรอบตัวเท่านั้น หากแต่เป็นความเข้าใจในตัวเราเองว่าได้เรียนรู้อะไรบ้างจากผลกระทบของสภาวะทางจิตใจและการใช้ชีวิตต่อไปหลังจากสถานการณ์นี้
เอเอฟเอส ประเทศไทย ได้มีโอกาสคุยกับ มะเฟือง-เรืองริน อักษรานุเคราะห์ นักเรียนเก่าเอเอฟเอส รุ่นที่ 47 ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ผันตัวจากการเป็นคอลัมนิสต์ สู่การเป็นนักศึกษาปริญญาโท สาขาจิตวิทยา ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ว่าการเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนได้เปลี่ยนชีวิตเธออย่างไร และในฐานะอนาคตนักจิตบำบัด เธอมีความคิดเห็นกับวิกฤต COVID-19 นี้อย่างไร
• • • • •
แนะนำตัวเองหน่อยค่ะ
มะเฟือง นักเรียนเก่าเอเอฟเอส รุ่นที่ 47 ประเทศสหรัฐอเมริกา ไปอยู่ที่รัฐ Indiana เมืองเล็กๆ ที่ต่างจากกรุงเทพมาก มะเฟืองไปช่วง ม.5 ค่ะ ตอนนี้กำลังเรียนต่อ ป.โท สาขาวิชาจิตวิทยา ด้าน Marriage and Family Therapy ที่ Pepperdine University รัฐ California ประเทศสหรัฐอเมริกา ค่ะ
ก่อนเข้าร่วมโครงการกับ AFS มีความรู้สึกอย่างไรกับตัวเองบ้าง
จริงๆ มะเฟืองเป็นเด็กกิจกรรม เรียนที่โรงเรียนมาแตร์เดอี เพราะเป็นเด็กกรุงเทพฯเรื่องไลฟ์สไตล์ก็จะเป็นคนที่มีกิจกรรมให้ทำตลอดเวลา ชีวิตโดยรวมคือโอเคค่ะ
ทำไมถึงเลือกไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนกับ AFS
คิดว่าโครงการของ AFS คือดีที่สุด เครดิตดีที่สุด มีค่ายปูพื้นฐานความรู้การปรับตัวให้ก่อนเดินทาง มีมาตรฐานที่ดี มะเฟืองเลยตัดสินใจเลือกไปกับโครงการนี้ค่ะ
การเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน AFS เปลี่ยนตัวเองอย่างไรบ้าง
อย่างแรกเลยทำให้เรารู้เลยว่าเราอยากเรียนอะไรเพราะตอนแรกก่อนไปคิดว่าตัวเองอยากเรียนรัฐศาสตร์ พอได้ไปแลกเปลี่ยนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วมีโอกาสได้ลงเรียนหลายวิชาที่โรงเรียน ได้เรียนเกือบทุกอย่างเลย หลากหลายมากๆ ได้เรียนศิลปะ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ได้เรียนการแสดง ได้เรียนรัฐศาสตร์ด้วย จนสุดท้ายค้นพบตัวเองว่าชอบสายนิเทศศาสตร์มาก พอกลับมาประเทศไทย หลังจากเรียนมัธยมจบ เลยเลือกสอบเข้าที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อย่างที่สองก็คือ ก่อนไปเรามีภาพในหัวชัดเจนว่าอเมริกามันต้องดี หรูหรา ซึ่งพอเราคาดหวังเยอะๆ เราก็จะผิดหวังได้ เพราะจากเด็กกรุงเทพฯ ที่เคยมีกิจกรรมให้ทำ ได้ออกไปเจอเพื่อน และชีวิตตอนอยู่ม.4 ที่ไทยก่อนไปแลกเปลี่ยน คือสนุกมากๆ แต่พอได้ไปแลกเปลี่ยนอยู่ที่รัฐอินเดียน่า ซึ่งเป็นเมืองชนบทเล็กๆ สำหรับเรามันเป็นเมืองที่น่าเบื่อมาก เมื่อเทียบกับกรุงเทพฯ ตอนที่ไปอยู่ช่วงแรกก็ใช้ชีวิตแบบอยู่ไปวันๆ เลยต้องปรับตัวและสภาพจิตใจกันลำบากพอสมควร มันไม่เหมือนภาพที่เรามีในหัว ไม่เหมือนอเมริกาที่เราคาดหวังไว้เลย แต่พออยู่ไปซักพักใหญ่ ก็เริ่มทนการใช้ชีวิตของตัวเองแบบนี้ไม่ได้อีกแล้ว จนมาถึงจุดที่ตัดสินใจว่าเราจะเปลี่ยนตัวเอง เราอยากอยู่ในโหมดที่มีแต่ความสงสัย อยากเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ พยายามมีความสุขกับสิ่งที่เป็นอยู่ ทำให้เราปล่อยวางและใช้ชีวิตให้ดีที่สุด เพราะพอเราคาดหวังมาก เราก็เซ็งมาก พอคิดมากก็ทำให้เราเสียใจมากเช่นกัน เราจึงตัดสินใจมาใช้ชีวิตให้เต็มที่สุดๆ ไปเลยดีกว่า เพราะได้มาที่นี่แค่ 11 เดือนเอง เราต้องใช้ชีวิตในทุกๆ วันให้คุ้มค่าที่สุด
ขอเทียบกับตอนนี้ ที่มาเรียนต่อ ป.โท ที่อเมริกานะคะ คือคนส่วนใหญ่จะคิดว่าตอนไปแลกเปลี่ยนเรามีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาคนอื่น แต่ความจริงแล้วตอนที่เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน เราต้องพึ่งพาครอบครัวอุปถัมภ์ตลอดเวลา เพราะด้วยปัจจัยของวัยและกฎของเอเอฟเอสในตอนนั้น ดังนั้นพอต้องมาอยู่เองจริงๆ เพื่อเรียนต่อในตอนนี้กลับกลายเป็นว่าเราต้องปรับตัวเยอะมาก เป็นการที่ต้องอยู่กับตัวเองจริงๆ ยกตัวอย่างโดยเฉพาะช่วงนี้ ที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 เราต้องกักตัวอยู่ในบ้าน ไม่มีเพื่อนไม่มีครอบครัวที่เป็นที่พึ่งให้เราได้เหมือนตอนที่เราอยู่ที่ไทย เราต้องดูแลตัวเองให้มากขึ้นกว่าเดิมยิ่งขึ้นไปอีก เป็นช่วงเวลาที่ท้าทายเหมือนกันค่ะ
มีเหตุการณ์อะไรที่ทำให้ตัวเองรู้สึกว่าเปลี่ยนไปจากก่อนมาแลกเปลี่ยนไหม
ตอนนั้นเรายังมีความเด็กอยู่เยอะ พอกลับมาเรายังไม่รู้สึกเปลี่ยนเท่าไหร่ ที่มารู้สึกจริงๆ คือตอนเรียนต่อ ป.โท ล่าสุดนี้เลย เพราะมันสอนให้เราอยู่กับปัจจุบัน พยายามจะไม่คาดหวังสูงเหมือนตอนที่ไปแลกเปลี่ยน แต่จริง ๆแล้วเราก็คาดหวังแหละ ว่าเมือง LA มันต้องดีมากๆ ซึ่งพอได้มาถึงแล้ว กลายเป็นว่ามันดีมากจริงๆ ซึ่งต่างจากตอนไปแลกเปลี่ยนเลย นั่นก็ทำให้คิดได้ว่า จริงๆ สิ่งที่ต้องเปลี่ยนก็คือเรา เพราะสุดท้ายแล้วไม่ว่าความคาดหวังของเราจะมากหรือน้อยแค่ไหน สุดท้ายแล้วมันก็ขึ้นอยู่กับตัวเราเอง ที่ต้องรู้จักเลือกและปรับตัวเพื่อที่จะอยู่ให้ได้ มาที่นี่เราเป็นคุณหนูไม่ได้แล้ว ต้องปรับตัวเยอะอยู่ทีเดียว
เมื่อกลับมาที่ประเทศไทยจากโครงการระยะ 1 ปีได้เจอภาวะ reverse culture shock (ความรู้สึกว่าเป็นคนนอกในวัฒนธรรม/สังคมเดิม) หรือเจอภาวะ identity crisis (ความลำบากในการปรับและค้นหาตัวตน) บ้างไหมคะ แล้วมีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง?
ไม่ค่อยมีนะคะ เพราะกลับมาได้เจอกับกลุ่มเพื่อนที่สนุกเหมือนที่อเมริกา เลยรู้สึกเหมือนเดิม แต่ที่ต้องปรับตัวนิดนึงก็คือตอนนั้นมะเฟืองเรียนภาษาจีนอยู่ เลยต้องรื้อฟื้นความรู้และเรียนตามเพื่อนให้ทันค่ะ ในส่วนของ Identity crisis ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนนะ ให้เลือกตัวตนที่เหมาะสม หลายคนกลับมามีพลังมาก ตอนที่กลับมาไทยแรกๆ เป็นช่วงที่กำลังเห่อวัฒนธรรมใหม่ ไม่อยากยุ่งกับวัฒนธรรมเก่า ซึ่งจริงๆแล้วมันเป็นเรื่องที่เราต้องใช้เวลาปรับตัวไปเรื่อยๆ เพราะไม่ว่าคุณจะเลือกวัฒนธรรมไหน คุณต้องรู้ว่ามันจะมีผลกระทบที่ตามมาอยู่แล้ว อีกปัจจัยหนึ่งคือพอเราโตขึ้น เราเข้าใจหลายๆ สิ่งในชีวิตมากขึ้น ก่อนหน้านี้เรารับรู้แค่วัฒนธรรมความเป็นไทย เราก็จะมีความคิดเพียงแค่ชุดเดียว แต่พอได้ไปเจอวัฒนธรรมอื่นๆ มันจะทำให้เราได้มีมุมมองที่กว้างมากขึ้น เพราะการที่เราออกไปเจอวัฒนธรรมอื่น นอกจากจะทำให้เราเห็นความแตกต่างของวัฒนธรรมของชาติต่างๆ แล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ มันจะทำให้เราเข้าใจวัฒนธรรมประเทศของเราอย่างชัดเจนมากขึ้นอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามเรายังมีความจำเป็นที่ต้องสร้างขีดจำกัดและความเข้าใจในความแตกต่างของวัฒนธรรมนั้นหลังจากที่กลับมา เพราะมันคือหน้าที่ของเราที่ต้องเลือกว่าเราจะอยู่ให้รอดด้วยการปรับตัวนั้นได้อย่างไร
เห็นพูดถึงว่ากำลังเรียนต่อ ป.โท ที่อเมริกา รบกวนมะเฟืองช่วยแชร์ชีวิตการเรียนและแผนในอนาคตให้เราฟังหน่อยได้ไหมคะ
ตอนนี้เรียนใกล้จบแล้วค่ะ แต่ว่าการเรียนจิตวิทยาที่นี่ มะเฟืองต้องทำงานเป็นนักจิตบำบัดดูแลคนไข้โดยต้องเก็บชั่วโมงการทำงานให้ครบ 3,000 ชั่วโมง เพราะต้องนำไปสอบรับใบประกอบวิชาชีพจากที่นี่ แล้วอาจจะอยู่ต่อทำงานด้านนี้เก็บประสบการณ์ไปซัก 2-3 ปี แต่ที่แน่ๆ รู้เลยว่าอยากกลับประเทศไทย อยากกลับไปช่วยสังคมไทยให้คนมีความรู้ความสนใจในความสำคัญของสุขภาพจิตมากขึ้น
ทำไมถึงเรียนต่อสายจิตวิทยา
ก่อนหน้านี้เป็นคอลัมนิสต์นิตยสารคลีโอ ประเทศไทย อยู่ประมาณ 2-3 ปี ได้ไปสัมภาษณ์คนเยอะ จากประสบการณ์ตรงนั้นรู้เลยว่า ไม่ว่าพวกเขาจะมีชื่อเสียงแค่ไหนทุกคนมีปัญหาในใจเหมือนกันหมด อีกอย่างคือเพื่อนหลายๆ คนชอบมาขอคำปรึกษา และครอบครัวก็อยากให้ไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ เพราะจะได้เรื่องการปรับตัวและประสบการณ์การดูแลตัวเองอย่างแท้จริงค่ะ
อยากให้แชร์ความคิดเห็น/ประสบการณ์ว่าในสถานการณ์วิกฤตโรคแพร่ระบาดแบบนี้ มีผลกระทบทางสุขภาพจิตของผู้คนอย่างไร และมะเฟืองคาดการณ์ว่าหลังจากภาวะการแพร่ระบาดนี้จบ พฤติกรรมและมุมมองของคนจะเป็นไปอย่างไร?
สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่อิสระมาก ไม่มีใครคิดว่าเหตุการณ์แบบนี้มันจะเกิดขึ้น ผู้คนเลยไม่ชินกับการ lock-down ตอนแรกคนที่นี่ไม่ให้ความร่วมมือเท่าไหร่ แต่ตอนนี้ผู้คนเริ่มเห็นว่ามันซีเรียสมาก โชคดีที่ผู้ว่าการรัฐดูแลดี และตอนนี้สถานการณ์ก็เริ่มดีขึ้นแล้ว ส่วนเราด้วยความที่ยังมีคนไข้ที่ต้องดูแลอยู่ ก็ต้องปรับตัวให้คำปรึกษากับคนไข้แบบออนไลน์แทน ในส่วนสภาพจิตใจของเรานั้น จริงๆแล้ว เราคาดหวังว่าเราจะรู้สึกแย่กว่านี้ แต่เราถือว่าโชคดีมากที่ยังมีเพื่อนคอยโทรมาหาบ่อยๆ อีกอย่างคือเราไม่ได้รู้สึกเบื่ออะไรขนาดนั้น เรายังสามารถหาเรื่องสนุกทำได้ เช่น เราชอบเขียนหนังสือ ชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว ช่วง lock-down ก็เลยไม่ลำบากมาก เราคิดว่าหลังจาก COVID-19 นี้ จะส่งผลให้คนมีความรู้สึกว่าโลกนี้ความปลอดภัยมันไม่มีอีกต่อไปแล้ว มันเป็นความรู้สึกที่น่ากลัวอยู่เหมือนกันนะคะ ในส่วนของ self-identity ก็จะเปลี่ยนไป เพราะบางคนคุณค่าของเขามาจากสิ่งที่คนทำ เช่น อาชีพการงานของเขา บางคนทำอาชีพการแสดง หรือเป็นนักกีฬา ซึ่งมันคือตัวตนของเขา และเหตุการณ์การแพร่ระบาดนี้เกิดขึ้นแบบกระทันหัน ตัวตนของพวกเขานั้นก็หายไป เรื่องแบบนี้คนอาจจะไม่ค่อยนึกถึง เพราะส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจมากกว่า
มีมุมมองความสำคัญของการไปโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอย่างไรบ้างคะ
พอได้มาเรียนต่อ ป.โท ทำให้เรารับรู้ได้เลยว่า การได้ไปโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมนั้นมีความสำคัญมาก ไม่ใช่แค่เราได้ไปเปิดโลกทางความคิดของเราให้กว้างขึ้นโดยการได้รู้จักเรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ แต่การที่คนจากประเทศอื่นได้มารู้จักวัฒนธรรมไทย ก็เป็นเรื่องสำคัญมากเช่นกัน อีกอย่างคือการที่เราได้เจอวัฒนธรรมอื่นๆ มันจะสอนเราว่า วัฒนธรรมเราหรือแม้กระทั่งตัวเราไม่ได้ดีกว่าใครหรือประเทศไหน แต่มันคือความแตกต่างเท่านั้นเอง
สุดท้ายนี้อยากให้มะเฟืองฝากข้อความถึงน้องๆที่มีความตั้งใจอยากเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนเอเอฟเอสค่ะ
“เรารู้สึกว่า มันเป็นประสบการณ์เดียวในชีวิต เพราะเป็นช่วงชีวิตที่มันส์และสนุกสุดแล้ว ประสบการณ์ที่ได้ไปแลกเปลี่ยนตอนเรียนมหาวิทยาลัย มันไม่เหมือนกับการไปแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมช่วงมัธยมอย่างแน่นอน เพราะประสบการณ์เอเอฟเอสจะสอนเราได้ดีเลยว่า ไม่ว่าเราจะเศร้า หรือแย่ หรือหนักหนาแค่ไหน ขอเราให้อดทน เผชิญกับปัญหาและความยากนั้นไปให้ได้ แล้วประสบการณ์นั้นจะเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากในชีวิตของเราในอนาคต”
อ้อ! อย่าลืมติดตามเพจที่ทั้งอ่านสนุก เข้าใจง่าย ได้ความรู้ และยังดีต่อสุขภาพจิตใจ โดยมะเฟือง ได้ที่: Facebook page: Beautiful Madness by Mafuang
และ Youtube channel: Beautiful Madness by Mafuang กันด้วยนะคะ ?
•
•
•
ติดตามข่าวสารของเอเอฟเอสประเทศไทยได้ทาง:
Website : http://afsthailand.org/
Facebook : https://www.facebook.com/afsthailandofficial/
Instagram : https://www.instagram.com/officialafsthailand/
Email : [email protected]
Tel : 02-5746197
#AFSThailand
#AFSProgram